แม้ว่าเราจะรู้จักกาแฟอย่างชาวตะวันตกมาได้สักระยะ
แต่เชื่อว่าคงมีอยู่หลายครั้งที่เรามักไปยืนเก้ ๆ กัง ๆ
พลางคิดว่าจะสั่งอะไรดี เพราะนอกจากชื่อเรียกที่แสนยาก
ส่วนผสมต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้เราจำสลับกันอีก
ดังนั้นเพื่อความมั่นใจ
เราจึงขอทบทวนความจำอีกสักครั้งก่อนจะสั่งกาแฟแก้วต่อไป
Espresso : กาแฟดำ
ตั้งแต่ชาวอิตาเลียนสร้างเครื่องชงกาแฟที่เรียกว่า "เอสเปรสโซแมชชีน"
ขึ้นมา
เอสเปรสโซก็กลายเป็น
ส่วนผสมพื้นฐานของกาแฟทุกแก้วมาตั้งแต่นั้น
เอสเปรสโซคือกาแฟแก้วเล็ก
ๆ ที่ใช้เวลาชงประมาณ 18-30 วินาที แล้วแต่สูตรของบาริสตาที่จะกำหนดว่าเวลาเท่าไรจึงจะเป็น
"เพอร์เฟ็กต์ช็อต"
จนออกมาเป็นความงามซึ่งประกอบไปด้วยสีดำสนิทตรงก้นแก้ว (The
Heart) หัวใจของความขมและหอม ตามด้วยบอดี้ (Body)
น้ำกาแฟสีน้ำตาลเข้ม
และด้านบนสุดก็คือพรายฟองสีน้ำตาลทองที่
เรียกว่า "เครมา" (Crema)
Cappuccino :
กาแฟใส่หมวก
ชื่อเรียกแสนหวาน "คาปุชชิโน"
นี้มาจากลักษณะของกาแฟที่มีฟองขาวเนียนด้านบนคล้ายหมวกของพระในสมัยก่อน
ซึ่งชาวอิตาเลียนเรียกกันว่า "คาปูชิน"
โดยกาแฟนี้เป็นส่วนผสมที่เท่า ๆ กันของเอสเปรสโซ นมร้อน
และฟองนม อย่างละหนึ่งส่วน
วิธีการดื่มกาแฟใส่นมที่ถูกต้องนั้นเราไม่นิยมคนกาแฟให้เสียจริต
แต่จะค่อย ๆ จิบกาแฟให้ไหลผ่านนมและฟองนมจนหมด
ปล่อยให้เหลือเพียงคราบฟองนมในแก้ว...และริมฝีปาก (ฮา)
Caffe Latte : กาแฟใส่นม (เยอะ)
จริง ๆ แล้วส่วนผสมของคาปุชชิโนและ
"ลาเต้" แทบไม่ต่างกัน แต่ใครที่เคยจำสับสนก็ให้ท่องไว้ว่า
ลาเต้เป็นกาแฟใส่นม (เยอะ) สมชื่อ เพราะลาเต้แปลว่า "นม"
โดยเราจะใส่นมร้อนเพิ่มขึ้นมาจากคาปุชชิโน 1 ส่วนมาเป็น 2
ส่วน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเสิร์ฟ ขนาดแก้วของลาเต้จะใหญ่อวบอ้วนกว่ากาแฟคาปุชชิโน
เพราะปริมาณนมร้อนที่เพิ่มขึ้นมานั่นเอง
Mocha : กาแฟ +
ช็อกโกแลต
ถ้าใครรักพี่เสียน้อง
อยากกินกาแฟด้วยช็อกโกแลตด้วย เห็นทีคงต้องสั่ง "มอคคา"
ซึ่งแท้จริงแล้วคำว่ามอคคาเป็นชื่อของกาแฟคั่วที่มาจากเมืองมอคคา
ประเทศเยเมน โดยคาแรกเตอร์ของกาแฟนี้ก็คือกลิ่นหอม ๆ
ของช็อกโกแลตที่แทรกซึมในตัวกาแฟ
ดังนั้นเมื่อมีการชงกาแฟผสมด้วยช็อกโกแลตและนม
เราจึงขนานนามกันว่า "มอคคา"
เพื่อเป็นเกียรติแก่กาแฟต้นตำรับ
Americano :
กาแฟเติมน้ำ
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า
"อเมริกาโน" ก็คือโอเลี้ยงบ้านเราดี ๆ นี่เอง
ซึ่งนั่นนับเป็นคำพูดที่ถูกต้องเลย
เพราะอเมริกาโนเกิดจากกาแฟเอสเปรสโซ่ 1 ช็อต
แล้วเติมน้ำเพิ่มเข้าไปเพื่อลดระดับความขมเข้มของชาวอิตาเลียนให้กลายมา
เป็นความขมตามแบบฉบับชาวอเมริกัน
โดยในระยะหลังมักอาศัยการเติมน้ำร้อนลงในถ้วยก่อน แล้วตามด้วยช็อตเอสเปรสโซเพื่อให้เครมาสีน้ำตาลทองยังคงอยู่อย่างสวยงาม
Macchiato :
กาแฟทิ้งรอย
คำว่า "มัคคิอาโต" ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า
"การทำเครื่องหมาย" ฉะนั้นในโลกของกาแฟ ถ้ามีคำว่ามัคคิอาโตขึ้นมาเมื่อไร
ความสวยงามจะต้องบังเกิด ถ้าเราสั่ง "คาเฟ่มัคคิอาโต"
ก็จะเป็นกาแฟเอสเพรสโซปิดหน้าด้วยฟองนม
ก่อนทำเครื่องหมายด้วยการเทนมอุ่นลงไปตรงกลางแก้วจนเห็นเป็นชั้นสวยงาม
ในขณะที่ "ลาเต้มัคคิอาโต"
จะเป็นนมร้อนที่ถูกทำเครื่องหมายด้วยกาแฟเอสเปรสโซ
ปิดท้ายด้วยแก้วโปรดของคนหลงรักความหวานหอม "คาราเมลมัคคิอาโต"
(Caramel Macchiato) ซึ่งก็คือนมร้อนผสมคาราเมล
แล้วทำเครื่องหมายสีน้ำตาลด้วยกาแฟเอสเปรสโซ
ถ้ายิ่งปิดหน้าด้วยฟองนม แต่งหน้าด้วยคาราเมลอีกสักรอบ
ก็จะยิ่งสวยหวานเข้าไปอีก
อยากจะสั่งกาแฟเสียแล้วสิ
แหล่งข้อมูล
- บทความ "คำขานนามกาแฟ"
นิตยสารสารคดี ฉบับพฤษภาคม 2555
บทความโดย รตินันท์ สินธวะรัตน์
คอลัมน์ Nice To Know นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่
154 เดือนพฤษภาคม 2556